new tags
เมื่อเวลา 17.59 น. วันที่ 29 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์
และทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลจังหวัดพิจิตร ซึ่งมี นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ที่ทำการศาลจังหวัดพิจิตร ตำบลคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์(เสื้อปั๊ด) ผ้าไหมมัดหมี่ ลายขอปลี และทรงถือพระกระเป๋าผ้าไหมมัดหมี่ ลายขอปลี เข้ากับฉลองพระองค์ นับว่าพระองค์ทรงสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ
“เสื้อปั๊ด” หากจะขยายความ ปั๊ด หรือ ป้าย น่าจะมีรากมาจากการที่ต้อง “ปั๊ด” หรือ “ป้าย” เฉียงมาผูกไว้ข้างเอว นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นอีก ซึ่งขึ้นอยู่กับท้องถิ่นของผู้นุ่ง เช่น “เสื้อปั๊ดจ้าง” หรือ “เสื้อแขบ” หรือ “เสื้อป้ายข้าง”
เสื้อปั๊ด เป็นลักษณะรูปแบบเสื้อแขนยาว สาบเสื้อสองเฉียงด้านเกยทับกัน มีเชือกสำหรับมัดที่ปลายสาบเสื้อทั้งสองข้าง มักตัดให้เข้ารูปพอดีตัว บริเวณไหล่ต่อแขนตรง เมื่อมองเผิน ๆ คล้ายกับเสื้อฮันบกของเกาหลี หรือกิโมโนญี่ปุ่นแบบตัดให้รัดรูป เสื้อลักษณะนี้ ชาวไทเรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อป้าย” เป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในชนชาวไทลื้อ ในสิบสองปันนา ไทยและลาว ชาวไทเขินแห่งเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ชาวลาวผู้ดีแห่งเมืองหลวงพระบาง นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มไทยวนแห่งเมืองน่าน และเมืองเชียงใหม่อีกด้วย อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาก็ว่าได้
เสื้อปั๊ดนั้นถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่าชนชาวไทลื้อ สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ได้รับรูปแบบเสื้อดังกล่าวมาจากชาวจีนมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว ก่อนที่ความนิยมดังกล่าวจะแพร่หลายลงสู่ดินแดนตอนใต้ ทำให้พบในกลุ่มไทยวนแห่งล้านนาและชาวลาวแห่งอาณาจักรล้านช้างด้วย
เสื้อปั๊ดได้รับความนิยม ในชนชาวไทกลุ่มต่าง ๆ แต่ก็มีการทำไปใช้ในลักษณะแตกต่างกัน เช่น เสื้อปั๊ดแบบชาวไทลื้อ มักตัดจากผ้าสีดำหรือสีครามตกแต่งด้วยแถบกุ๊นผ้าหลากสีและริบบิ้นจีน ส่วนชาวไทเขินจะตัดจากผ้าพื้นสีเรียบไม่ตกแต่งมาก ชาวไทลาวเน้นการตกแต่งเป็นพิเศษบริเวณคอเสื้อด้วยการปักไหมเงินไหมทองให้เป็นลวดลายวิจิตร ในขณะที่ชาวไทยวนจะตัดให้มีตัวหลวมโคร่ง สำหรับสวมใส่ในฤดูหนาว ซับในด้วยผ้าสีแดง ที่เรียกกันว่า “เสื้อก๊บหลองในแดง”
ขอบคุณข้อมูลจาก Her Majesty Queen Suthida Fanpage