
new tags
เรื่องราวของโขนไทย ความเป็นไทยที่ ยูเนสโกประกาศรับรองเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และส่วนสำคัญในการผลักดันการแสดงโขนของไทยให้เข้าร่วมพิจารณาจากยูเนสโก คือ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริมการแสดงโขนในทุกมิติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายเครื่องประดับโขนชุดใหม่ พัฒนาการแต่งหน้าให้งดงามดึงดูดความสนใจ พัฒนาเทคนิคการแสดง ฉากเวที แสง สี เสียง อันเป็นที่มาของโขนพระราชทานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจึงทำให้โขนไทยยิ่งใหญ่อลังการ
สร้างความตื่นตาประทับใจแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้การแสดงโขนได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์และพัฒนาเป็นมรดกของชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งสร้างอัตลักษณ์ไทยในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
ย้อนกลับไปเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๔๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า ปัจจุบันมีคนไทยดูโขนน้อยมาก สร้างความเป็นห่วงอย่างมากแก่พระองค์ท่าน
เพราะทรงตระหนักว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นของล้ำค่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ฟื้นฟูการแสดงโขนขึ้นมา ถึงกับทรงมี พระราชเสาวนีย์ด้วยว่า เมื่อไม่มีคนดูโขน ฉันจะดูเอง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชเสาวนีย์เรื่อง เครื่องแต่งกายโขนของกรมศิลปากร โดยทรงเป็นห่วงชุดแต่งกายโขนในขณะนั้นว่า ชุดพระ นาง ยักษ์ หนุมาน แต่ละขนาด รูปแบบ สี และลวดลายแตกต่างไปจากในสมัยเดิมมาก
จะเห็นว่าเมื่อชุดโดนแสงไฟจะมีลักษณะสวยงาม แต่ดูใกล้ชิดแล้วจะเห็นลวดลายค่อนข้างหยาบ พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานทรัพย์จำนวน ๓ แสนบาท เพื่อให้กรมศิลป์นำไปศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลของเดิมและทำการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้มีลวดลายประณีต งดงาม ตามแบบแต่งกายโขนเดิม
อีกทั้งยังมีพระราชเสาวนีย์โดยตรงถึงเรื่องศิลปะการแต่งหน้านักแสดงด้วย ว่าสมัยนี้ตัวพระจะทาปากแดง ทั้งที่สมัยก่อนที่พระองค์เคยทอดพระเนตรไม่ได้ทาอย่างนั้น จนเกิดการพัฒนาเป็นการแต่งหน้าที่เน้นเส้นสายลายไทย มีสีสัน แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้
นี่จึงเป็นที่มาของโขนพระราชทาน ที่สสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ฟื้นฟูและอนุรักษ์เอาไว้ จนกลายเป็นศิลปะประจำชาติที่สืบสานมายังปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นศิลปะที่ช่างต่างชาติต่างให้ความสนใจและชื่นชมอีกด้วย