
new tags
วันนี้ทางเว็บไซต์ของเราจะพาไปชมความงดงามของเครื่องเพชรประจำราชวงศ์จักรี จาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” อย่าง “รัดเกล้าเพชร” ลวดลายไทย เครื่องประดับที่สามารถถอดเป็นสร้อยพระศอ และ สร้อยข้อพระหัตถ์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ที่มีความงดงามและมีเทคนิคการทำที่แยบยล โดยใช้เทคนิคฝังเพชรขึ้นตัวเรือนแบบซ่อนหนามเตย “Mystery Set™”
และใช้ลูกเล่นการฝังอัญมณีบดบังหนามเตยโลหะบนตัวเรือนเพื่ออวดความงามของรัตนชาติ โดยองค์นี้ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ในการพระราชพิธีสำคัญหลายครั้ง รวมทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆในยุโรปในช่วงต้นรัชกาลที่ ๙
รัดเกศาเพชรองค์นี้ เป็นพระราชมรดกจาก พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงยกให้กับ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สำหรับเครื่องประดับจาก “แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์” ของราชวงศ์ไทย เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ โดยอ้างถึงเครื่องประดับของราชวงศ์จักรี ได้สะสมอย่างจริงจังและมีการดีไซน์ที่สมัยใหม่ขึ้นมาจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถือว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย
การแต่งพระองค์ของเจ้านายสตรีต้นรัชกาล ทรงสร้อยสังวาลย์ ปั้นเหน่งทองหัวเพชร พลอย กำไล แหวน สร้อยข้อมือ ส่วนปลายรัชกาล เจ้านายสตรีทรงแฟชั่นแบบยุโรปประยุกต์ กล่าวคือ ฉลองพระองค์แขนหมูแฮมกับโจงกระเบน ทรงไข่มุกหลายๆเส้นกับเข็มกลัด เข็มขัด สะพายแพร ถุงพระบาทลวดลายปัก ฉลองพระบาทส้นสูง อย่างที่ทราบกันว่ารัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จฯประพาสยุโรปถึงสองครั้ง ในช่วงปีพ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450
และได้ทรงซื้อเครื่องประดับอัญมณีจากช่างผู้ผลิตเครื่องประดับอันมีชื่อของยุโรปมีทั้ง คาเทียร์, เจอราด, ทิฟฟานี และ แวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ รวมอยู่ในนั้น เพื่อพระราชทานแก่พระมเหสี เจ้าจอม และพระธิดามากมาย และเครื่องประดับเหล่านั้น ปัจจุบันได้ตกทอดเป็นพระราชมรดกของทายาทจนปัจจุบัน รวมถึงเครื่องเพชรชิ้นใหญ่อันงดงามล้ำค่าของราชวงศ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำพระราชมรดกมาทรงฉลองเวียนใส่ที่พบเห็นกันบ่อยๆ เมื่อเสด็จฯเยือนต่างประเทศ หรือออกสู่มหาสมาคม โดยเฉพาะในวโรกาสทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ จึงมาจากช่วงนี้นั่นเอง